นายกรวิชญ์ บุญประเสริฐ

เมื่อก่อนทรัพยากรทางธรรมชาติของป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่เมื่อมีการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนมากเกินไปโดยไม่ดูแลรักษา เช่น การตัดไม้ไปทำถ่าน การขยายพื้นที่นากุ้ง ผลที่ตามมาคือระบบนิเวศขาดความสมดุล ขาดแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ อาชีพการทำประมงพื้นบ้านรายได้ต่

นายกรวิชญ์ บุญประเสริฐ

ประวัติความเป็นมา

เมื่อก่อนทรัพยากรทางธรรมชาติของป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่เมื่อมีการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนมากเกินไปโดยไม่ดูแลรักษา เช่น การตัดไม้ไปทำถ่าน การขยายพื้นที่นากุ้ง ผลที่ตามมาคือระบบนิเวศขาดความสมดุล ขาดแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ อาชีพการทำประมงพื้นบ้านรายได้ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด


รายละเอียดเพิ่มเติม

จากแนวพระราชดำริฯของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “เมื่อเราใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ควรใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุดและคุ้มค่าที่สุด และในเมื่อเราได้ใช้ทรัพยากรแล้วเราก็ต้องรู้จักการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรที่เรามีอยู่” จึงได้นำกลับมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานของกลุ่มรักษ์ทะเล โดยการปรึกษากันเองภายในกลุ่มว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ทรัพยากรที่เคยมีอยู่อย่างสมบูรณ์ในอดีตได้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยอาศัยศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนในการให้ความรู้ และจัดหาพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เพื่อนำมาปลูกภายในพื้นที่


กิจกรรมที่ดำเนินงาน

สมาชิกในกลุ่มรักษ์ทะเลจะขอความร่วมมือจากบุคคลนอกพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมเช่น หน่วยงานราชการ เอกชน นักเรียน นักศึกษา โดยประสานงานกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน โดยผู้ที่จะมาปลูกป่าชายเลน ต้องเสียค่าใช้จ่าย คือ เด็ก นักเรียน นักศึกษา คนละ ๕ บาท/ต้น บุคคลทั่วไป ๑๐ บาท/ต้น เพื่อเป็นค่าขุดหลุม ไม้ปักยึดต้นกล้า และเชือกฟาง โดยก่อนการลงพื้นที่ปลูกป่าชายเลน ทางด้านกลุ่มรักษ์ทะเลจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน วิธีการปลูกที่ถูกต้อง

๑) กำหนดพื้นที่ในการปลูก พื้นที่ปลูกป่าชายเลนต้องเป็นพื้นที่ที่มีโคลนทะเลลึกไม่น้อยกว่า ๓๐ เซนติเมตร เพื่อให้รากของต้นกล้ายึดเกาะและปักไม้ค้ำยัน และเป็นพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึง และคลื่นซัดไม่แรง หรือมีการสร้างแนวกันคลื่นที่ทำจากไม้ไผ่
๒) เตรียมต้นกล้า ต้นไม้ที่นำมาปลูกต้องเป็นพันธุ์ดั้งเดิมในท้องถิ่น จะทำให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดตายสูง อีกทั้งยังเหมาะสมกับระดับความเค็มของน้ำทะเลทำให้เจริญเติบโตได้ดี ที่แหลมแม่นกแก้วสามารถปลูกพืชได้หลายชนิด ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ลำพูและแสม เป็นต้น
๓) กำหนดแนวปลูก โดยปักไม้สำหรับยึดต้นกล้าพร้อมเชือกฟางให้เป็นแนวเดียวกัน
๔) เตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมลึกประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม ๑.๕๐ x ๑.๕๐ เมตร
๕) ให้ความรู้ และบอกวิธีการปลูกที่ถูกวิธีโดยวิทยากรประจำของกลุ่มรักษ์ทะเล ก่อนจะลงพื้นที่ปลูกจริง
๖) การปลูก โดยนำต้นกล้าไปปลูกที่หลุมที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ โดยเมื่อปลูกต้นกล้าแล้วต้องมัดต้นกล้ายึดกับไม้ปักยึดต้นกล้าด้วยเชือกฟางที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ เทคนิคพิเศษในการปลูกป่าชายเลน
๑) กำหนดให้ปลูกในช่วงเดือน เมษายน –กันยายน เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. เพราะช่วงเวลานี้น้ำจะลดอยู่ตลอดทำให้สามารถปลูกต้นกล้าได้ง่าย สะดวกต่อการปลูกต้นกล้า
๒) ต้องจัดระบบการปลูกให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยการปลูกต้นกล้าแต่ละชนิดปะปนกัน ไม่ปลูกชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นกลุ่มมากเกินไป
๓) ต้นกล้าที่จะนำมาปลูกต้องเป็นต้นกล้าที่แข็งแรง มีความสูงไม่น้อยกว่า ๙๐ เซนติเมตร และมีรากเต็มถุง จะทำให้มีอัตราการรอดสูง


เคล็ดลับความสำเร็จ

การจัดการทรัพยากรป่าชายเลนเพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ยั่งยืน ดังนี้
๑) ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นของการฟื้นฟู ตั้งแต่ขั้นตอนของการวางแผน เพื่อให้มั่นใจว่าอยู่บนพื้นฐานของความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง เช่น การให้ชุมชนมีความเข้าใจถึงเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีการฟื้นฟูป่าชายเลน การเลือกพื้นที่ที่จะทำการฟื้นฟู วิธีการฟื้นฟูที่ชุมชนจะทำได้และมีความเหมาะสม วันที่จะทำการปลูก ขั้นตอนของการดูแลบำรุงรักษาและการปลูกซ่อมแซม
๒) นำองค์ความรู้ดั้งเดิมและวิถีชีวิตของชุมชนมาประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรป่าชายเลน เช่น การที่คนในชุมชนไม่ทำลายป่าชายเลน เพราะถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรของชุมชน เพื่อเป็นแหล่งไม้ใช้สอย เป็นแหล่งหาอาหาร เป็นแหล่งวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำตัวอ่อน เป็นแหล่งป้องกันอุบัติภัยทางธรรมชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือท้องถิ่นในการทำการประมง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประมงที่ไม่มีอานุภาพในการทำลายสูง
๓) สร้างจิตสำนึกและเสริมสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศและความสำคัญของป่าชายเลน ทำให้ชุมชนทราบว่าตนเองเป็นผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นฟู เช่น ป่าชายเลนจะเป็นกำแพงธรรมชาติ เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำ และเป็นแหล่งไม้ใช้สอยในอนาคต
๔) การให้ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ แก่ชุมชนในการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรป่าชายเลน เพื่อให้มีการนำประสบการณ์ เหล่านี้มาทำงานในท้องถิ่นของตนเอง เช่น การฝึกอบรมและหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ การศึกษาดูงาน ต่างๆ และรวมไปถึงการให้ข้อมูลทางด้านงานวิจัยและทางวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาผสมผสานกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูโดยชุมชน เช่น ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะโลกร้อน เพื่อที่ชุมชนจะได้วางแผนและติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมในอนาคต
๕) สร้างผู้นำและเครือข่ายเพื่อให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง เพื่อที่ชุมชนคนชายฝั่งจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และหาแนวทางในการที่จะสนับสนุนการทำงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนระหว่างกัน เพื่อให้มีความเข้มแข็งและประสบผลสำเร็จมากขึ้นในการร่วมมือกันในอนาคต


คติประจำใจ

-


ปัญหาและแนวทางแก้ไข

-


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

นายกรวิชญ์ บุญประเสริฐ
บ้านเลขที่ ๑๐/๖ หมู่ ๑๐ ต.ช้างข้าม อ.นายายอาม จ.จันทบุรี
โทรศัพท์ ๐๘๑-๑๕๓ ๗๕๘๐

บทความอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ