03
ก.พ.
65
"ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทยเป็นสมบัติมีค่าสูงสุดเพราะเป็นมรดกที่เราได้ศึกษาจากบรรพบุรุษและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราดำรงประเทศชาติและเอกราชสืบมาได้ทุกคนจะต้องรักษาความเป็นไทยและความสามัคคีนี้ไว้ให้มั่นคง"
ส่วนหนึ่งของพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 เมื่อสิงหาคม 2512 ได้ทรงพระราชทานแด่สามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีอัญเชิญในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การสร้างความยั่งยืนให้กับความเป็นไทย” ในการประชุม "การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ ของกระทรวงมหาดไทย"
องคมนตรียังได้ย้ำว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือหลักคิดนำทางสร้างความยั่งยืนความเป็นไทย
ในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง“การสร้างความยั่งยืนให้กับความเป็นไทย” ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษมกล่าวว่า ปัจจัยหลักที่สร้างลักษณะเฉพาะให้แก่ชนชาติหรือประเทศชาติ ว่ามีอยู่ 3 ปัจจัย คือ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการทำงานร่วมกับชุมชนนั้น แต่ละชุมชนก็จะมีลักษณะเฉพาะซึ่งแตกต่างกัน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้คำว่า "ภูมิสังคม" ในการทำงานพัฒนาพื้นที่ หากได้นำหลักนี้ไปเป็นแนวทาง ก็จะเข้าใจประชาชนได้อย่างลึกซึ้ง ด้วยคำว่า "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" หมายความว่า การ "เข้าใจ" ต้องเข้าใจกันทั้ง 2 ทาง ทั้งข้าราชการและผู้เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนา และชุมชน การ "เข้าถึง" ก็คือสามารถเข้าถึงกันได้ทั้งสองทาง ไม่ว่าจะเป็นราชการเข้าหาชุมชน หรือชุมชนเข้ามาหาทางการ หากทำได้ครบทั้ง 2 ทางแล้วถึงจะร่วมกัน "พัฒนา" ได้
ตัวอย่างประวัติกลุ่มชนไท จากการอ้างอิงถึงผลการวิจัยเชิงวัฒนธรรมกลุ่มคนไทนอกประเทศไทย โดยศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กลุ่มคนที่พูดภาษาไท 100 กว่าล้านคน มีกลุ่มหลักอยู่ในประเทศไทย 63 ล้านคน ที่เหลือแบ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใน ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว ประเทศจีน ประเทศพม่า และประเทศอินเดีย
คนไทเป็นกลุ่มคนที่ปลูกข้าวกิน โดยเฉพาะนาดำ อ้างอิงจากงานวิจัยของ รศ. สุรพล นาถะพินธุ ว่า ชาวไทปลูกข้าวกว่า 8,000 ปีมาแล้วทางตอนใต้ของจีน และไม่ว่าจะอพยพไปที่ไหน ก็จะต้องไปอาศัยบริเวณที่มี น้ำ เพื่อจุดประสงค์ในการปลูกข้าว เป็น “วัฒนธรรมน้ำ” และเลี้ยงปลา เกิดเป็น "วัฒนธรรมข้าว-ปลา"
นอกจากนี้ยังมี ความเชื่อด้าน พิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ผี ขวัญ ผู้เถ้าผู้แก่ และเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ต่อมาคือ จิตวิญญาณของความเป็นไทยที่สำคัญ คือ ระดับครอบครัว ต้องมีความกตัญญูรู้คุณ และรู้จักการตอบแทนคุณ ระดับชุมชนเข้มแข็ง คือการมีความมีน้ำใจต่อการมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน และระดับเมือง มีความจงรักภักดี มีความสามัคคีของชนเผ่าไท