โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ

ฝายชะลอความชุ่มชื้น เป็นแนวพระราชดำริทฤษฏีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ โดยใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวยสัมพันธ์ซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้ ซึ่งตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น คือ “น้ำ” พระองค์ทรงใช้เครื่องมือที่จะยังประโยชน์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดีที่สุด ก็ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง และหาช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ได้ผลดีมากวิธีการหนึ่ง

ฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam)

ฝายชะลอความชุ่มชื้น เป็นแนวพระราชดำริทฤษฏีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ โดยใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวยสัมพันธ์ซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้ ซึ่งตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น คือ “น้ำ” พระองค์ทรงใช้เครื่องมือที่จะยังประโยชน์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดีที่สุด ก็ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง และหาช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ได้ผลดีมากวิธีการหนึ่ง

“ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ สำหรับต้นน้ำ ไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วยจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ส่วนตามร่องน้ำ และบริเวณที่น้ำซับก็ควงสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก”

พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2521 ณ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

“ควรสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามร่องน้ำเพื่อช่วยชะลอกระแสน้ำ และเก็บกักน้ำสำหรับสร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณต้นน้ำ”

พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2532 ณ ดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

1. ความสำคัญของฝายชะลอความชุ่มชื้นในการพัฒนาแหล่งน้ำ

ในบางพื้นที่ประสบกับปัญหาน้ำแห้งในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงมาจะซึมลงสู่ดิน หากมีปริมาณมากเกินกว่าที่แหล่งน้ำใต้ดินจะรับได้ น้ำที่ล้นออกมานี้จะกลายเป็นน้ำผิวดิน ไหลลงมาตามแม่น้ำลำคลอง ต่อมาในช่วงฤดูแล้งระดับน้ำใต้ดิน จะค่อย ๆ ลดต่ำลงมาจนอยู่ในระดับต่ำกว่าท้องห้วย จึงทำให้เกิดภาวะน้ำแห้งขอดในลำห้วยในช่วงฤดูแล้ง เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ นอกจากนี้ บางพื้นที่ยังประสบกับปัญหาลำห้วยและแหล่งน้ำตื้นเขิน เนื่องจากแหล่งน้ำถูกกัดเซาะโดยน้ำฝน และการพัดพาโดยน้ำสู่ที่ราบด้านล่าง ทำให้เกิดการทับถมของตะกอน เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน การพัดพาและความเร็วของน้ำจะลดลงตามลำดับ จนไม่อาจนำตะกอนเคลื่อนที่ต่อไปได้ จึงค่อยๆ ปล่อยให้ตะกอนตกถมกันตามลำห้วยและแหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน ความสามารถในการซับน้ำก็จะลดลง ด้วยเหตุนี้ภาคอีสานจึงขาดแคลนน้ำ แม้จะเป็นในช่วงฤดูฝนก็ตาม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแนะนำให้ใช้ “ฝายกั้นน้ำ” หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อของ "ฝายชะลอความชุ่มชื้น” เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่

- การยกระดับน้ำใต้ดินให้สูงขึ้น โดยการสร้างฝายกั้นน้ำกักน้ำผิวดิน เพื่อให้ซึมลงดินจนเกิดความชุ่มชื้นในดิน ประกอบกับการสร้างป่าเปียกเพื่อเก็บความชื้นไว้ในดิน ซึ่งจะมีผลทำให้ระดับน้ำใต้ดินยกระดับสูงขึ้น ทำให้ราษฎรมีน้ำใช้ในช่วงวิกฤตของฤดูแล้ง ฝายที่สร้างตามวัตถุประสงค์นี้จะเรียกว่าฝายชะลอความชุ่มชื้น
- การลดปริมาณการทับถมของตะกอน โดยการสร้างฝายกั้นน้ำเพื่อชะลอความเร็วของน้ำ จะช่วยลดลงอำนาจการพัดพา มีผลทำให้การทับถมในพื้นที่ลุ่มตอนล่างลดลง เนื่องจากตะกอนถูกกักกระจายไว้ตามฝายย่อยๆ อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องลดปริมาณการกัดเซาะของดินบริเวณต้นน้ำด้วยการปลูกป่าคลุมดินอีกทางหนึ่ง ฝายที่สร้างตามตามวัตถุประสงค์นี้ จะถูกเรียกว่า “ฝายดักตะกอน” อย่างไรก็ดี ฝายกั้นน้ำหากสร้างขึ้นมาแล้วก็จะทำหน้าที่ทั้ง “การชะลอความชุ่มชื้น” และ “การดักตะกอน” เอื้อประโยชน์และสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเสมอ

2. ฝายชะลอความชุ่มชื้นตามแนวพระราชดำริ มี 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 ฝายชะลอความชุ่มชื้นแบบท้องถิ่นเบื้องต้น เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น กิ่งไม้และท่อนไม้ล้ม ขอนนอนไพร ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในลำห้วย ซึ่งเป็นการก่อสร้างแบบง่าย โดยจะทำการก่อสร้างในบริเวณตอนบนของลำห้วยหรือร่องน้ำ ซึ่งสามารถดักตะกอน ชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณรอบฝายได้เป็นอย่างดี ฝายแบบนี้มีค่าใช้จ่ายน้อยมากหรืออาจไม่มีค่าใช้จ่ายเลย นอกจากค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเท่านั้น การก่อสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นรูปแบบนี้ ทำได้หลายวิธี เช่น

- ก่อสร้างด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยหิน
- ก่อสร้างด้วยไม้ขนานด้วยถุงบรรจุดินหรือทราย
- ก่อสร้างแบบคอกหมูแกนดินอัดขนานด้วยหิน
- ก่อสร้างแบบเรียงด้วยหินแบบง่าย
- ก่อสร้างแบบคอกหมูหินทิ้ง
- ก่อสร้างแบบคอกหมูถุงทรายซีเมนต์
- ก่อสร้างแบบหลักคอนกรีตหินทิ้ง
- ก่อสร้างแบบถุงทรายซีเมนต์
- ก่อสร้างแบบคันดิน
- ก่อสร้างแบบหลักไม้ไผ่สานขัดกัน อันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน

รูปแบบที่ 2 ฝายชะลอความชุ่มชื้นแบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร ก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำ ก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วยหรือร่องน้ำ ฝายแบบนี้จะช่วยดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี
รูปแบบที่ 3 ฝายชะลอความชุ่มชื้นแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร ส่วนมากจะดำเนินการก่อสร้างในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ ประโยชน์ของมันคือช่วยดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี ค่าก่อสร้างโดยเฉลี่ยตกอยู่ที่ 40,000-50,000 บาท แล้วแต่ขนาดของลำห้วย แต่ไม่ควรมีความกว้างเกิน 4 เมตร

3. ข้อคำนึงในการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น

  1. ควรสำรวจสภาพพื้นที่ วัสดุก่อสร้างตามธรรมชาติ และรูปแบบฝายชะลอความชุ่มชื้นที่เหมาะสมกับภูมิประเทศมากที่สุด
  2. ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงให้มากพอ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะไม่พังทลายตอนที่ฝนตกหนักหรือยามที่กระแสน้ำไหลแรง
  3. ควรก่อสร้างในพื้นที่ที่ช่องลำห้วยมีความลาดชันต่ำ เพื่อที่จะได้ฝายชะลอความชุ่มชื้นในขนาดที่ไม่เล็กเกินไป อีกทั้งยังสามารถกักน้ำและตะกอนได้มากพอสมควร ส่วนในลำห้วยที่มีความลาดชันสูง ก็ควรสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นให้ถี่ขึ้น
  4. วัสดุก่อสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นประเภทกิ่งไม้ ท่อนไม้ ที่นำมาใช้ จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยควรใช้เฉพาะไม้ล้มขอนนอนไพรเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะใช้กิ่งไม้หรือท่อนไม้จากการริดกิ่ง
  5. ฝายชะลอความชุ่มชื้นแบบคอกหมูแกนดินอัดแน่น ควรมีทางระบายน้ำด้านข้างเพื่อป้องกันน้ำกัดชะสันฝายจากการที่มีฝนตกหนักจนมีน้ำหลากมาก
  6. ควรปลูกไม้ยืนต้นยึดดินบนสันฝาย เช่น ไคร้น้ำหรือไม้ชนิดอื่นๆ ที่โตได้ดีบนที่ชื้น
  7. ควรสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหลังฤดูฝนหรือหลังน้ำหลาก และทุกๆ ปี ก็ควรมีการบำรุงรักษา ขุดลอกตะกอน ซ่อมแซมสันฝายและทางระบายน้ำล้นอยู่เป็นประจำ

4. แนวทางที่เหมาะสมในการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น

ก่อนดำเนินการก่อสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ควรสำรวจร่องน้ำลำห้วยในพื้นที่ที่มีปัญหาการพังทลายของดินหรือปัญหาพื้นที่ขาดความชุ่มชื้น โดยพิจารณาถึงความลาดชันของร่องน้ำและสำรวจหาข้อมูลปริมาณน้ำไหลในร่องน้ำมา ใช้ประกอบการเลือกตำแหน่งสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ดังนี้
  1. พื้นที่ลาดชันสูง ในกรณีที่ความกว้างของลำห้วยไม่เกิน 2 เมตร ควรสร้างฝายผสม ใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ท่อน หิน ถุงบรรจุดินหรือทราย แต่ถ้าความกว้างมากกว่า 2 เมตร หรือในลำห้วยมีปริมาณน้ำมาก ควรเพิ่มโครงสร้างของฝายชะลอความชุ่มชื้นเป็นแบบคอกหมู ที่มีโครงสร้างหลายระดับมากน้อยตามปริมาณน้ำ
  2. พื้นที่ลาดชันปานกลาง ควรสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นแบบคอกหมูหรือแบบท้องถิ่นของชาวบ้าน ถ้าเป็นแบบคอกหมูให้ใช้หินเรียงหรือกระสอบทรายผสมซีเมนต์ขนาบโครงสร้าง
  3. พื้นที่ลาดชันต่ำ ในกรณีที่มีปริมาณน้ำมาก ควรสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ถ้ามีน้ำไม่มากและความกว้างไม่เกิน 2 เมตร อาจใช้ถุงทรายผสมซีเมนต์ได้

5. ประโยชน์ของฝายชะลอความชุ่มชื้น

  1. ช่วยลดการพังทลายของดินและความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มและความชุ่มชื้นมีมากขึ้น เช่นเดียวกับช่วยแผ่ขยายกระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของลำห้วย
  2. ช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วยได้ดี เป็นการช่วยยืดอายุแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลงและคุณภาพของน้ำมีตะกอนปะปนน้อยลง
  3. เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่ การที่ความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลให้ความหนาแน่นของพันธุ์พืชเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
  4. การที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้บางส่วนนี้ ทำให้เกิดเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ซึ่งใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการบริโภค ทั้งกับของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ตลอดจนนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ