โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงสนพระทัยเรื่องน้ำเป็นอันดับต้นๆ เพราะทรงทราบว่าเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในเวลาเดียวกัน พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้นำน้ำที่กักเก็บเอาไว้มาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการใช้ทรัพยากรอย่างองค์รวมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พระราชอัจฉริยภาพเกี่ยวกับน้ำและการจัดการน้ำ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระทัยในด้านวิศวกรรมศาสตร์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังที่ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บรรยายไว้ในหนังสือ "ทำเป็นธรรม" ว่า เมื่อพระชันษาประมาณ 3 พรรษา เริ่มสนพระทัยและโปรดที่จะทำบ่อน้ำเล็กๆ ให้มีทางน้ำไหลไปตามต้องการ ทรงช่วยกันทำกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเชษฐา ทำคลอง ทำเขื่อนเก็บน้ำและรอบๆ บ่อหากิ่งไม้มาปักเป็นการปลูกต้นไม้ ประมาณ 7-8 พรรษา จึงได้ทรงสังเกตเห็นวิธีการที่ผู้ใหญ่นำน้ำใส่อ่างให้เด็กเล็ก ด้วยการนำน้ำจากที่แห่งหนึ่งมาสู่ที่อีกแห่ง โดยทำให้ที่รับน้ำนั้นต่ำกว่า รวมถึงวิธีการทำทางน้ำโดยใช้ดินเหนียวปะหน้าและถูให้เรียบเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก และทรงจำวิธีที่ได้จนบัดนี้

พลอากาศตรี กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เล่าถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า

"เมื่อทรงเป็นพระอนุชา พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรถไฟเล็กเป็นรถไฟไฟฟ้า พระองค์ท่านทรงประดิษฐ์ระบบการจ่ายไฟให้รถไฟเล็กวิ่งด้วยพระองค์เองพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความสนพระทัยและเข้าพระทัยเรื่องเกี่ยวกับการช่างเรื่องไฟฟ้าเป็นอย่างดีมาตั้งยังทรงพระเยาว์"

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเปลี่ยนจากทรงศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์มาทรงศึกษาด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์เพื่อประโยชน์ด้านการปกครองประเทศ แต่กระนั้นพระองค์ท่านก็ยังทรงศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทุกข์สุขของราษฎร

"พระองค์ท่านทรงมีความรู้เรื่องเขื่อนว่าผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร ถ้าสร้างเขื่อนที่นี่ต้องเป็นเขื่อนกว้างยาวเท่าไหร่ ถ้าปล่อยน้ำขนาดนี้ควรใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเท่าใด เขื่อนควรสูงเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ปัจจุบันพระองค์ท่านทรงติดตามเรื่องระดับน้ำในเขื่อนอยู่ตลอดเวลา บางครั้งพระองค์ท่านก็ทรงมีความเห็นว่าเขื่อนแห่งนี้ปล่อยน้ำมากไปหรือน้อย ไป เพราะเขื่อนบางเขื่อน หากเก็บน้ำไว้มากเกินไปไม่ปล่อยไป ปีถัดมาฝนตกหนักก็จะไม่มีพื้นที่ให้เก็บน้ำ แต่ถ้าปล่อยน้ำมากเกินไป หน้าแล้งก็อาจไม่มีน้ำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้"

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการใช้พลังงานน้ำผลิตกระแสไฟฟ้านั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงเน้นการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อเก็บกักน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นการเสริมการทำงานของเขื่อนขนาดใหญ่ที่จัดทำโดยภาครัฐ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พึ่งพาตนเองได้ และเป็นตัวอย่างในการพัฒนาพลังงานในทุกภาคส่วนของประเทศ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ