สถาบันปิดทองหลังพระฯ เดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำ 9 จังหวัดลุ่มน้ำมูล

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และคณะ ได้ลงพื้นที่ ต.วังหิน อ.โนนแดง และ ต.กำปัง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เพื่อติดตามโครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอดและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปจากกรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเงินบริจาคของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมจำนวน 42.88 ล้านบาท เพื่อมาสนับสนุนให้หน่วยราชการในจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ไปประชุมหารือกับประชาชนว่าประสบปัญหาและมีความต้องการจะให้มีการซ่อมแซม หรือเสริมศักยภาพแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น ฝาย เหมือง คลองส่งน้ำ ฯลฯ ซึ่งถูกปล่อยไว้ไม่มีหน่วยงานใดเข้ารับผิดชอบเนื่องจากขาดแคลนงบประมาณและไม่มีระเบียบราชการที่เปิดช่องทางให้ดำเนินการได้ จึงให้สถาบันปิดทองหลังพระฯ ในฐานะองค์กรพัฒนาภายใต้สังกัดมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เข้ามาสนับสนุน

ทั้งนี้พื้นที่ซึ่งจะสามารถขอรับการสนับสนุนจากสถาบันปิดทองหลังพระฯได้จะต้องเป็นพื้นที่ ซึ่งประชาชนมีความต้องการโดยยินดีที่จะสละแรงงานและเวลามาร่วมดำเนินการก่อสร้างซ่อมแซมด้วยโดยสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะสนับสนุนงบประมาณและวัสดุในการซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดเล็กดังกล่าว โดยขอความร่วมมือผู้อำนวยการกองช่าง นายช่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการซ่อมแซมรวมทั้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและนายอำเภอนำกำลังแรงงานชาวบ้านมาร่วมดำเนินการด้วย

ซึ่งในปีนี้มีพื้นที่ดำเนินการรวม 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้งบประมาณรวม 42.88 ล้านบาท จำนวน 139 โครงการคาดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 9,751 ครัวเรือนพื้นที่ทำการเกษตร ได้รับน้ำจำนวน 46,800 ไร่

นายกฤษฎากล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการที่ อ.โนนไทยหน่วยราชการปกติไม่สามารถดึงน้ำในฝายที่อยู่ต่ำ ขึ้นที่สูงเพื่อกระจายน้ำเข้าสู่แปลงของเกษตรกรได้ สถาบันปิดทองหลังพระฯ จึงได้นำอดีตข้าราชการด้านยุทธศาสตร์น้ำ  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำมาช่วยออกแบบเพื่อยกน้ำขึ้นที่สูงและให้น้ำไหลเข้าแปลงของเกษตรกรผ่านระบบท่อใต้ดินมีข้อดีคือไม่เสียพื้นที่ในการทำเกษตรสามารถใช้หน้าดินในการเพาะปลูกได้เต็มศักยภาพ


เงื่อนไขสำคัญของโครงการ เรื่องแรกต้องมาจากความต้องการที่แท้จริงของชุมชนโดยประชาชนมีส่วนร่วมสละแรงงานในการซ่อมแซม และเรื่องที่สอง หลังจากซ่อมแซมแล้วเสร็จจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อช่วยกันดูแลบำรุงรักษาให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ