ชาวปัตตานีปลื้ม ผลซ่อมฝายสร้างอ่างเก็บน้ำทำผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้งทุเรียน-ข้าวขายได้ราคา

 

น.ส.ฮามีนะ ยาโมยีมะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านใหญ่ ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เปิดเผยถึงโครงการซ่อมแซมฝายและกำแพงกันดิน(ฝายบ้านเก่า) หมู่ที่1 บ้านใหญ่ ต.ทรายขาว ภายใต้โครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ จ.ปัตตานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จังหวัดปัตตานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ในอดีตหมู่บ้านมีปัญหาเรื่องน้ำ คือ น้ำจากน้ำตกไหลลงมาผ่านฝาย และกัดเซาะพื้นที่สวนของชาวบ้าน ทำให้ฝายชำรุด เนื่องจากฝายสร้างไว้นานแล้วเป็นสิบๆปี ไม่เคยมีการซ่อมแซมเลย พอโครงการปิดทองหลังพระฯ เข้ามา จึงของบประมาณไป จนได้มาเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ชาวบ้านนำไปใช้ส่งเข้านาเข้าสวนได้ 


  ซึ่งปกติแล้วน้ำจากฝายบ้านเก่าไม่ค่อยได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เลย เพราะไม่มีระบบเก็บกัก ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ในการเกษตรได้ อีกทั้งยังกัดเซาะสวนมังคุด สวนทุเรียน สร้างความเสียหายให้เกษตรกร หลังจากฝายได้รับการซ่อมแซมจนสามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว ก็ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ชาวสวนทุกคน โดยมีการนำน้ำไปใช้ นับร้อย ไร่ ในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน  ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น อย่างในส่วนนาข้าวของตนเองนั้น แต่ก่อนแห้งแล้งขาดน้ำ ผลผลิต 1 ไร่ได้ประมาณ 40-50 เรียง แต่พอได้ใช้น้ำจากตรงนี้ ทำให้ขยับเป็น 200 เรียงต่อไร่ ไม้ผลก็ไม่แห้งแล้ง สวนทุเรียนออกดอกเพราะมีน้ำ

“รู้สึกดีใจและฝากขอบคุณผู้ใหญ่ที่อนุมัติโครงการนี้  ที่ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ ชาวบ้านได้รับประโยชน์เต็มที่  ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนตัวก็ได้ใช้ประโยชน์จากอ่างกักเก็บน้ำนี้ในการทำนา และทำสวนทุเรียน เพราะสามารถใช้น้ำได้ทุกหมู่ อย่างแต่ก่อนทุเรียนไม่ได้ผลผลิตเลย เนื่องจากขาดน้ำ ผลผลิตร่วงหล่นเสียหาย เมื่อได้น้ำจากการซ่อมแซมฝาย ก็เกิดการตั้งระบบบริหารน้ำไว้ใช้ได้ตามที่ต้องการ ไม่แห้งแล้งอีกต่อไป ผลผลิตขายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เดิมขายทุเรียนได้รอบละ 100,000-200,000 บาท ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 420,000 บาท ไม่ถึงกับรวยแต่พอใช้ ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากน้ำตรงนี้ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”

  ด้านนายอับดุลเล๊าะ สาเมาะบาซา เกษตรกรทำสวนผสม และสวนทุเรียน กล่าวว่า  ก่อนหน้าจะมีการซ่อมแซมฝาย และคลองไส้ไก่ มีน้ำใช้ไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร น้ำที่มีสามารถรดพืชได้แค่ 5-6 นาที น้ำก็หมดแล้ว ผลผลิตจึงไม่สมบูรณ์และไม่สวยงาม เมื่อน้ำไม่เพียงพอ ก็ต้องต่อน้ำจากแหล่งน้ำอื่นๆ มาใช้แต่พอฝายได้รับการซ่อมแซม ทำให้มีน้ำใช้ได้ตลอด น้ำจากคลองไส้ไก่ ก็ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องต่อน้ำเข้าสวนไกล โดยสามารถสูบน้ำใช้จากคลองได้เลย 

          สำหรับตนเองทำสวนทุเรียนและสวนผสม ขณะนี้เริ่มออกผลแล้ว ช่วงที่ลูกเริ่มโต ต้องขยายลูกให้ออกมาเร็วๆ ต้องเปิดน้ำ อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ผลผลิตก็ดีขึ้นกว่าเดิม ปีก่อนขายผลผลิตไป สวนละประมาณ 70,000-80,000 บาท จากเดิมได้เพียง 20,000 บาท เพราะโครงการนี้มาช่วย จึงมีความสุขที่ได้ทำสวนมากขึ้น แค่มีน้ำก็เพียงพอแล้ว  

    นางฟีนา มะสิน เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี  กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่นาไม่มีน้ำ ผลผลิตข้าวมีลักษณะเป็นข้าวแห้ง ไม่มีน้ำหนัก ก่อนข้าวออกรวงจะต้องสูบน้ำใส่นา เมล็ดข้าวไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย บางครั้งต้องตัดให้วัวกิน และไม่ได้เงินจากการทำนา พอมีน้ำ ผลผลิตข้าวก็ดีขึ้นมาก เมล็ดข้าวได้น้ำหนักดี การดำนาไถคราดก็คล่องตัวมากขึ้น ถ้าไม่มีน้ำจะทำไม่ได้เลย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้าวขายดีมากขึ้น ได้ข้าวประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อเรียง แล้วแต่เรียงเล็กหรือใหญ่ จากเดิมได้แค่ 1 กิโลกรัมกว่าๆต่อเรียง 

ทั้งนี้โครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ จ.ปัตตานี มีการดำเนินโครงการในหลายอำเภอเช่น อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอกะพ้อ อำเภอสายบุรี และอำเภอปะนาเระ โดยได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมเสริมประสิทธิภาพแหล่งน้ำ มีระบบกระจายน้ำ และมีแผนการทำเกษตรหลังมีน้ำต่อยอด เน้นพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำอย่างสูงสุด

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ