“ที่นี่มีพื้นที่ปลูกหม่อน 12 ไร่ แบ่งเป็นแปลงหม่อน 53 แปลง มีสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกหม่อน 38 ราย ปกติเกษตรกรแต่ละรายจะมีรายได้ประมาณ 700 บาท ต่อการเก็บใบหม่อนขาย 1 ครั้งต่อแปลง ซึ่งแทบจะเป็นรายได้หลักของชุมชน แต่พอถึงหน้าแล้ง ระบบน้ำมันเข้าไม่ถึงแปลงปลูกหม่อน ใบไม่สมบูรณ์ขายไม่ได้ราคาบ้าง บางทีแล้งถึงขนาดหม่อนยืนต้นตาย ทั้งๆที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อไม่อั้น แต่เราไม่มีขาย เกษตรกรก็ขาดรายได้ตรงนี้” นายวิทวัส เอื้อนไธสง ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 บ้านเมืองไผ่ ชุมพลบุรี ต.เมืองบัว จ.สุรินทร์ บอกเล่าถึงสภาพปัญหาของชุมชน
พอรู้ว่าชุมชนได้รับโครงการจากตลาดหลักทรัพย์และปิดทองหลังพระฯ ชาวบ้านก็ดีใจและตื่นตัวกันมาก ชุมชนที่นี่เข้มแข็ง ขอความร่วมมืออะไรก็ร่วมแรงร่วมใจกัน ขาดเพียงแค่เสริมระบบน้ำให้ทั่วถึงชุมชนก็จะไปได้ไกล จะเห็นได้ว่าแม้แต่ผู้สูงอายุก็มาช่วยลงมือลงแรงต่อท่อเข้าแปลงหม่อน เพราะเขาอยากได้น้ำจริงๆ ต่อไปหน้าแล้ง ต้นหม่อนที่นี่ก็ไม่ต้องยืนต้นตายและสามารถขายได้อย่างต่อเนื่องให้ชุมชนมีรายได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีแปลงผักที่ช่วยลดรายจ่ายและหากเหลือก็ขายเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกด้วย และในอนาคต จะสร้างที่นี่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้หม่อนไหมครบวงจร เรียกได้ว่าใครอยากรู้เกี่ยวกับหม่อนไหม ต้องนึกถึงบ้านเมืองไผ่ ต.เมืองบัว จ.สุรินทร์” นายวิทวัส กล่าว
ด้าน น.ส. วันเพ็ญ หาญเสมอ นายอำเภอชุมพลบุรีกล่าวปิดท้ายว่า ต้องขอบคุณตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ปิดทองหลังพระฯ ที่ได้นำโครงการดีๆ ช่วยเสริมศักยภาพชุมชน หน่วยงานราชการก็มองว่าชุมชนที่นี่เข้มแข็ง หากได้เสริมและต่อยอดอีกเพียงนิดเดียว ก็จะพัฒนาไปได้อีกไกล เราเชื่อว่าเมื่อน้ำมา ก็จะได้เห็นแปลงหม่อนที่นี่เขียวและอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี และเจตนารมณ์ของปิดทองหลังพระฯ ที่ว่าอยากจะให้ยั่งยืน ที่นี่ก็จะเป็นเช่นนั้น เพราะพี่น้องเกษตรกรได้ลงมือลงแรงทำด้วยตัวเอง