30
เม.ย.
65
เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดสำคัญของแพะอยู่ที่ภาคใต้ ซึ่งแม้มีชาวบ้านในพื้นที่จำนวนไม่น้อยเลี้ยงกันอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม เช่น การนำไปทำอาหารฉลองสำหรับเด็กเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่า “อากีเกาะห์
ด้วยเหตุนี้เองทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่เริ่มเข้าไปพัฒนาพื้นที่ต้นแบบตามแนวพระราชดำริ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2559 ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ จึงได้ส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ หลังจากเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตรเป็นอันดับแรกแล้ว
ทั้งนี้ในการส่งเสริมระยะแรก ปิดทองหลังพระฯได้นำเกษตรกรไปศึกษาดูงานตามจังหวัดต่างๆ ที่มีการเลี้ยงแพะทั่วประเทศ เพื่อนำวิธีการเลี้ยงที่เหมาะสมมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในชุมชน พร้อมร่วมกับหน่วยงานต่างๆให้ความรู้ในการเลี้ยงแพะอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา เป็นไปตามหลักสุขลักษณะและหลักสุขาภิบาล ซึ่งส่งผลให้แพะสมบูรณ์ได้ราคาดีด้วย
นางรูฮานี บราเฮง ชาวบ้านในหมู่บ้านฮูแตทูวอ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็นเกษตรกรอีกรายที่อยู่ในโครงการส่งเสริมเลี้ยงแพะของปิดทองหลังพระฯ ส่งผลให้ทุกวันนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้จุนเจือครอบครัว แทนที่จะอาศัยรายได้จากสามีเพียงคนเดียว
เธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านอย่างเดียว ไม่ได้ทำอาชีพอะไร ส่วนสามีทำงานอยู่ในเมือง สาเหตุที่มาเลี้ยงแพะ เพราะเห็นเพื่อนบ้านเลี้ยงแล้วรายได้ดี แพะออกลูกบ่อย ปีละ 2 ครั้ง จึงอยากจะลองเลี้ยงบ้าง โดยลองเลี้ยงแพะ 5 ตัว ต่อมาออกลูก 2 ตัว หมายถึง 1 แม่พันธุ์ออกลูก 2 ตัว ตกปีละประมาณ 4 ตัว การเลี้ยงแพะนั้นไม่ยาก ไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้าหน้าฝนจะยากหน่อยเพราะแพะชอบท้องอืด
เมื่อรูฮานี เลี้ยงแพะและขายในปีแรก ปรากฏว่าได้เงินกว่า 12,000 บาท ซึ่งทำให้รูฮานี ดีใจมากเพราะลงทุนแค่ไม่กี่บาทก็ได้ขายลูกแพะแล้วและแม่พันธุ์ก็ยังอยู่ พอมาปีที่ 2 รายได้เริ่มขยับขึ้นเป็น 25,000 บาท และแพะแม่พันธุ์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากวันแรกที่เริ่มเลี้ยงแพะแค่ 5 ตัว ปัจจุบันเพิ่มเป็น 30 กว่าตัว เนื่องจากแพะออกลูก ทำให้จำนวนแพะเพิ่มขึ้น โดยจะขายตัวผู้ ส่วนตัวเมียเก็บไว้ทำแม่พันธุ์ ทำให้รายได้ปีที่ 3 สูงถึง 80,000 บาท จากแม่บ้านที่แต่ก่อนไม่ได้ทำอะไร ไม่มีรายสถานะทางการเงินก็ไม่ค่อยคล่อง เนื่องจากสามีทำงานคนเดียว แต่ตอนนี้สถานะทางการเงินของ รูฮานี ดีและมีรายได้มากขึ้นเลยทีเดียว
พอมาเลี้ยงแพะทำให้รายได้ดีขึ้นเยอะกว่าเดิม พอมีเงินเก็บบ้าง ตั้งใจเก็บเงินไว้ไปทำพิธีฮัจญ์ ที่ผ่านมาติดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยังไม่มีโอกาสได้ไป รอสถานการณ์ดีขึ้น คงจะได้ไปแน่นอน ปัจจุบันมีแพะ 30 กว่าตัว โดยทำอาชีพเลี้ยงแค่แพะอย่างเดียว”
นางรูฮานีอธิบายเพิ่มเติมถึงวิธีการเลี้ยงแพะว่า เมื่อเลี้ยงแพะได้ประมาณเดือนที่ 5- 6 ก็เริ่มขายได้แล้ว เท่ากับว่า 5-6 เดือนจะได้เงินหนึ่งครั้ง ซึ่งถ้าออกลูกเป็นตัวผู้ก็จะขาย ส่วนถ้าเป็นตัวเมียจะเก็บไว้ ปีที่แล้วขายแพะได้มากที่สุดคือ 18 ตัว ได้เงิน 53,000 บาท บางคนบอกว่าเลี้ยงแพะแล้วมีปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นโรคปากเท้าเปื่อย ท้องอืด แต่พอมาเลี้ยงเองก็ไม่ค่อยมีปัญหา จะมีแค่ช่วงหน้าฝน ที่แพะอาจจะเผลอไปกินหญ้าเปียกเลยทำให้มีอาการท้องอืดบ้าง
นอกจากนี้ยังมีปิดทองหลังพระฯมาเป็นพี่เลี้ยง ช่วยฉีดยาบำรุงให้แพะ ยาถ่ายพยาธิ หรือถ้ามีปัญหาอะไรเกี่ยวกับแพะก็อาศัยให้ทางปิดทองหลังพระฯ ช่วย ตั้งแต่ฉีดยา อบรมให้ความรู้เรื่องการดูแลเลี้ยงแพะ หากไม่เข้าใจอะไรก็สามารถไปถามกับทีมงาน ได้ ตรงนี้เลยช่วยทำให้การดูแลเลี้ยงแพะไม่ยากด้วย
“ต้องขอขอบคุณปิดทองหลังพระฯ ที่มาช่วยทำให้มีอาชีพ มีรายได้เสริม จากแพะ 2 ตัวในวันนั้น จนเป็น 30 ตัวในวันนี้ เมื่อเราเลี้ยงได้ลูกแล้ว ต้องคืนให้กลุ่มด้วย เท่ากับว่าได้แม่พันธุ์มา 2 ตัวต่อครัวเรือนก็ต้องส่งลูกคืนจำนวน2 ตัวด้วย โดยส่งคืนให้กลุ่ม เพื่อต่อยอดให้คนอื่นไปเลี้ยงต่อเรื่อยๆ”
นับเป็นเกษตรกรอีกคนที่หันมาเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลัก ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และมีเงินเก็บ ซึ่งแม้จะไม่เคยเลี้ยงมาก่อน แต่ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและปิดทองหลังพระฯ คอยให้คำแนะนำส่งเสริม ถือเป็นเกษตรกรต้นแบบที่หมั่นศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองจนประสบความสำเร็จ