ในอดีต บ้านลือมุ หมู่ที่ 8 ต.กรงปีนัง อ.กรงปีนัง จ.ยะลา ประสบปัญหาน้ำทางการเกษตรขาดแคลนเป็น อย่างมาก แม้สภาพพื้นที่จะมีภูเขามีน้ำไหลผ่านทั้งปี ถึงจะมีฝายอยู่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เนื่อง จากชำรุดทรุดโทรม ซ้ำร้ายเวลาน้ำหลาก ก็กัดเซาะดินและบ้านเรือนบริเวณนั้น สร้างความเสียหายมาหลาย 10 ปี
นายอาดือนัน ฮามิดง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 เล่าว่า “ชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อนมาหลาย 10 ปี พืชผลการ เกษตรก็ยืนต้นตาย แทบปลูกอะไรไม่ได้ พอดีประสานกับทางหน่วยงานในอำเภอว่าอยากจะให้ชุมชนมีแหล่งน้ำ ทางอำเภอก็แนะนำว่ามีงบซ่อมแซมฝายของทางปิดทองหลังพระฯ อยู่ ให้ชุมชนลองเสนอโครงการมา แต่มีข้อแม้ว่า ชาวบ้านต้องลงมือซ่อมแซมเอง โดยมีวัสดุอุปกรณ์ให้ จึงได้ทำประชาคมหมู่บ้าน และชาวบ้าน ก็ลงความเห็นว่า เป็นโครงการที่ชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง แม้จะต้องเสียสละแรงงาน ในการซ่อมแซม ก็เต็มใจทำ”
โครงการซ่อมแซมและปรับปรุงฝายชะลอน้ำ (ฝายแม้ว) บ้านลือมุ ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา จึงเริ่มดำเนินการ โดยรูปแบบโครงการเป็นการซ่อมแซมฝาย ซึ่งมีความกว้าง 3 เมตร ความยาว 6 เมตร สูง 1.8 เมตร งบลงทุน 136,439 บาท เกิดพื้นที่รับประโยชน์ 40 ไร่ 50 ครัวเรือน
นายรอซือดี ตเจ หนึ่งในเกษตรกรผู้รับประโยชน์กล่าวว่า หลังจากทำการซ่อมแซม ฝายและมีน้ำใช้ทำ การเกษตรตลอดทั้งปีแล้ว ตัวฝายยังสร้างให้สามารถนำรถขับผ่านเพื่อขนผลผลิตทางเกษตรได้สะดวกมากยิ่งขึ้น จากแต่ก่อนรถเข้าไม่ได้ ต้องใช้มอเตอร์ไซค์ในการนำผลไม้ออกจากสวน ทำให้เสียเวลาเป็นวันๆ ถือเป็นโครงการที่ ทำครั้งเดียวได้ประโยชน์ 2 อย่าง อย่างแท้จริง
นายอาดือนัน กล่าวเสริมว่า พอชุมชนได้น้ำแล้ว ผลผลิตทางการเกษตรอย่าง ทุเรียน ลองกอง มะพร้าว แตงโม ก็มีความสมบูรณ์ ขายได้ราคามากกว่าเดิม ไม่ต้องกังวลว่าผลไม้จะยืนต้นตายอีกต่อไป นอกจากนี้ ตั้งแต่ฝายได้รับการซ่อมแซม เกษตรกรยังสามารถนำน้ำไปใช้ปลูกพืชผักสวนครัว อย่าง มะระ ถั่วฝักยาว แตงกวา ฯลฯ เพื่อเป็นรายได้เสริมรายวันอีกด้วย ซึ่งในฐานะที่เป็นตัวแทนของชาวบ้าน ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งปิดทองหลังพระฯ ที่ช่วยพลิกฟื้นพื้นที่กรงปินังให้มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถ ลืมตาอ้าปาก ได้อย่างยั่งยื่น
ทั้งนี้ โครงการซ่อมแซมและปรับปรุงฝายชะลอน้ำ (ฝายแม้ว) บ้านลือมุ ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา หลังจากซ่อมแซมจนสมบูรณ์เรียบร้อย ส่งผลให้ เกษตรกรมีน้ำใช้ สำหรับ การเกษตร ปลูกไม้ผลและเกษตรผสมผสาน โดยจากผลสำรวจพบว่ารายได้ก่อนการพัฒนาของชาวบ้านในพื้นที่ เดิม 2,871,500 บาท ล่าสุดรายได้รวมหลังการพัฒนามากถึง 5,479,500 บาท