ตัลมีซี เจะมะ ปรมาจารย์แพะ ต้นแบบสร้างอาชีพ 3 จังหวัดชายแดนใต้

    

  ใครจะไปเชื่อว่าความต้องการ “แพะ” ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ของคนท้องถิ่น มีสูงมาก จนต้องนำเข้าจากจังหวัดอื่นหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะนอกจากการบริโภคแล้ว ยังใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา อาทิ การทำกุรบานหรืองานบุญต่างๆ แม้หน่วยราชการจะรณรงค์ให้มีการเลี้ยงแพะกันมากขึ้น ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ 

นายตัลมีซี เจะมะ  วัย 41 ปี ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ปรมาจารย์แพะ” แห่งบ้านคลองต่ำ ในจังหวัดปัตตานี จากความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการเลี้ยงแพะมานานหลายสิบปี เป็นเจ้าของฟาร์มแพะ “ไฟซูลฟาร์ม” ใน ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี  หนึ่งในเกษตรกรที่มองเห็นช่องทางการตลาดเลี้ยงแพะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังเปิดกว้างและยังมีความต้องการใช้แพะอย่างไม่จำกัด 

ตัลมีซีเล่าว่า ชอบเรื่องปศุสัตว์มาตั้งแต่วัยเด็ก หลังจากเรียนจบชั้น ม.6 ก็ตั้งใจที่จะมีฟาร์มแพะเป็นของตนเอง จนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ได้พบกับ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล อดีตเลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่ได้ลงพื้นที่เพื่อดูการเลี้ยงแพะของบ้านท่าน้ำต.ปะนาเระ เพื่อสนับสนุนอาชีพให้กับเกษตรกรได้เพิ่มศักยภาพการเลี้ยงแพะเพื่อจำหน่ายได้ดียิ่งขึ้น และตัลมีซีก็ได้เป็นหนึ่งในเกษตรกร 5 ราย ที่ได้รับแพะพันธุ์พระราชทาน “แบล็คเบงกอลW ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 5 ตัว

“พอได้รับแพะพันธุ์พระราชทานแบล็คเบงกอล 5 ตัวแล้ว ปิดทองหลังพระฯ ยังสนับสนุนองค์ความรู้ โดยพาไปดูงานที่จังหวัดราชบุรี และสนับสนุนการเลี้ยง ด้วยการให้ยืมเงินทุนเพื่อสร้างคอกแพะให้ได้มาตรฐาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ” 

แม่แพะพันธุ์แบล็คเบงกอลที่ได้รับมา ถือว่าเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมในการนำมาเลี้ยงเพาะพันธุ์มาก เนื่องจากเป็นพันธุ์ลูกดก ในแม่พันธุ์ 1 ตัว สามารถออกลูกได้ 2-4 ตัว  1 ปี จะออกลูก 2 รอบ  แบล็คเบงกอลเป็นแพะขนาดเล็ก ตัวละประมาณ 15 กิโลกรัม ตลาด 3 จังหวัดชายแดนใต้ชอบแพะแบบนี้ ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก 

เทคนิคการเลี้ยงแพะให้ได้คุณภาพดีและประหยัดต้นทุน สามารถนำพืชผักในท้องถิ่นมาเลี้ยงได้ เช่น ผักกระเฉด เป็นพืชที่หาได้ง่าย หลังจากเก็บในตอนเช้า ให้พักไว้ ก่อนนำมาเลี้ยงช่วงบ่าย เพื่อให้พยาธิตายให้หมดก่อน  พืชอย่างอื่นในพื้นที่ที่ใช้ได้ก็มี ใบเม่า ใบยอ หรือใบกระถิน  ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกหญ้าเนเปียร์ไว้ให้แพะกินอยู่แล้ว การสร้างคอกต้องยกพื้นสูง เพื่อป้องกันโรคต่างๆ และป้องกันความชื้น ส่วนใหญ่แพะจะเป็นโรคท้องอืด ภาคใต้มักมีปัญหาเรื่องความชื้น และต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด หากแพะป่วยจะได้แก้ไขได้ทันที

“อนาคตวางแผนจะเลี้ยงแพะเพิ่มเป็น 500 ตัว ในพื้นที่ 25 ไร่ และจะชำแหละเนื้อแพะชั่งขายเป็นกิโล และทำเนื้อแพะกระป๋องส่งไปขายประเทศมาเลเซีย ตอนนี้ความต้องการแพะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเยอะมาก อยากจะแนะนำให้เกษตรกรสนใจมาเลี้ยงแพะกันให้มากขึ้น ในพื้นที่จะได้ไม่ต้องนำเข้าแพะจากจังหวัดอื่น และยังเป็นรายได้เสริมให้เดือนละหลักหมื่นบาทเลย” ตัลมีซี กล่าว

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ