ปิดทองฯสรุปผลการทำงานโครงการเร่งด่วน Quick win พื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ 2 ปีแรก ปรับปรุง ซ่อม เสริม บำรุงรักษาระบบน้ำเพื่อการเกษตรสำเร็จ 27 โครงการ ชุมชนรับประโยชน์ 4,245 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 12,002 ไร่ พร้อมต่อยอดสร้างอาชีพเสริมหลังมีน้ำใช้ ทั้งด้านการเกษตร สนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างความยั่งยืนพึ่งตนเองได้ตามแนวพระราชดำริ
สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ สนับสนุนสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (Quick win) 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยาและแม่ฮ่องสอน) ตามแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ (พ.ศ.2562 – 2565) โดยจัดทำโครงการอบรมและฝึกปฏิบัติเพื่อประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ ในพื้นที่ที่มีปัญหาการค้าและการลำเลียงยาเสพติด บริเวณชายแดนภาคเหนือ จำนวน 2 หลักสูตร เพื่อสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ มุ่งหวังว่าหากภาคราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ในพื้นที่เป้าหมายเกิดความเข้าใจ จะนำแนวคิดนี้ไปดำเนินการในพื้นที่ที่มีปัญหาลักษณะเดียวกัน จะทำให้ประชาชนในชุมชนที่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ ลด ละ เลิกการค้า และการลำเลียงได้ในที่สุด
การอบรม เรียนรู้ประสบการณ์ ประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการพัฒนาทางเลือก การพัฒนาระบบน้ำ เกษตรพอเพียง ปศุสัตว์ กับการฝึกปฏิบัติจริงด้านการประยุกต์โดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะมีวิทยากร จากปิดทองหลังพระฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กรมชลประทาน ผู้แทนกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและการฝึกปฏิบัติฯจริงจากปัญหาของพื้นที่ที่แต่ละ อปท.ใช้โจทย์ในหมู่บ้านนำร่องจริงที่ผ่านการพูดคุยและลงประชามติกันแล้วมาเป็นกรณีศึกษาที่เป็นรูปธรรม
การดำเนินงานช่วงปี 2562 – 2563 ภายหลังการติดตามประเมินโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ของทั้ง 4 จังหวัดรวม 27 โครงการ เกิดผู้รับประโยชน์ 4,245 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 12,002 ไร่ เป็นโครงการจากจังหวัดเชียงราย 13 โครงการ เชียงใหม่ 9 โครงการ พะเยา 4 โครงการ และแม่ฮ่องสอน 1 โครงการ
นายอานนท์ ผลบุญ หัวหน้าสำนักงานประสานกิจการขยายผลโครงการร้อยใจรักษ์ พื้นที่ชายแดนภาคเหนือ ปิดทองหลังพระฯกล่าวว่า จุดเด่นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบ Quick win เป็นโครงการสืบสานแนวพระราชดำริ ในการบริหารจัดการน้ำชุมชนโดยใช้หลักการมีส่วนร่วม “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเป็นเจ้าของ” สละแรงงานโดยไม่มีค่าจ้าง โดย อปท. สนับสนุนค่าวัสดุ อุปกรณ์ 60 เปอร์เซ็นต์ และสถาบันฯ สมทบเพิ่มเติม 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการจ้างเหมา เมื่อโครงการแล้วเสร็จ อปท. จะเป็นผู้ดูแล บำรุง รักษาทรัพย์สิน ปิดทองหลังพระฯร่วมกับกรมชลประทานฝึกอบรมความรู้ ฝึกทักษะด้านการพัฒนาแหล่งน้ำให้กองช่าง เพื่อลงไปปฏิบัติจริง และมีวิศวกรจากโครงการชลประทานจังหวัดต่าง ๆ คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา
แต่ละพื้นที่ตั้งโครงการส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ก็จะได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ตามมาตรา 19 เป็นโครงการถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อแต่ละชุมชนมีน้ำใช้เพียงพอ ก็จะมีแผนระยะต่อไปในการนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและต่อยอดสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน
ความสำเร็จของการทำงานช่วงเริ่มต้นระยะ 2 ปีที่ผ่านมาเกิดจากการพัฒนาที่ยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง ในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเป็นเจ้าของโดยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบโครงการฯโดยร่วมมือกับระดับจังหวัด อำเภอ อปท. ผู้นำชุมชน ทุกโครงการได้รับมติยอมรับจากชาวบ้านเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ มีการสนับสนุนงบประมาณจาก อปท. เกิดการติดต่อประสานงานจากหน่วยงานทุกระดับในพื้นที่อย่างต่อเนื่องทำให้ข้อติดขัดได้รับการแก้ไขทันกับความต้องการของชุมชน
นายอานนท์ กล่าวด้วยว่าภายหลังการพัฒนาระบบน้ำของทุกพื้นที่สำเร็จลุล่วง ปิดทองหลังพระฯ จะยังคงประสานงานการทำโครงการต่อเนื่องตามแผนพัฒนาหมู่บ้านที่มาจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ที่ส่วนราชการจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและราษฎร ทั้ง 4 จังหวัด ได้ร่วมกันทำ ผ่านกระบวนการแบบฉบับปิดทองฯ “ตั้งแต่ขั้นประชาคมยอมรับโครงการ การสำรวจทุกหลังคาเรือน การบันทึกประมวลผล วิเคราะห์โดยมหาวิทยาลัยพะเยา การคืนข้อมูล การจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นแนวปฏิบัติหลัก และการบูรณาการแผนพัฒนาหมู่บ้านกับส่วนราชการทั้ง 4 จังหวัด เพื่อให้แผนพัฒนาหมู่บ้านได้รับการตอบสนอง หรือ “แผนที่มีชีวิต” ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว อาทิ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมฐานราก ระดับหมู่บ้านชุมชน ตามบริบท ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ ศักยภาพของพื้นที่หมู่บ้านนั้น ๆ โดยคัดเลือกหมู่บ้านที่เอาจริงเอาจังในการพัฒนา และทางสถาบันฯจะสนับสนุนงบประมาณที่จำเป็นในการสร้างเสริมอาชีพ เช่น การพัฒนาต่อยอดผ้าทอเจ็ดสี ผ้าม้ง การเลี้ยงไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ เลี้ยงแพะ เลี้ยงหมู ปลูกมะม่วง อะโวคาโด้ การแปรรูปอาหารจีน เป็นต้น
“การทำงานทั้งหมดจะทำภายใต้หลัก 4 ก. ในการขับเคลื่อน คือ 1. มีการรวมกลุ่ม 2. มีการตั้งกฎ กติกา ระเบียบ 3. มีกองทุนบริหารจัดการภายในกลุ่ม และ 4. มีกิจกรรมภายในกลุ่มต่อเนื่อง เช่น การอบรมหาความรู้เพิ่มเติม การต่อยอดกิจกรรมอื่นๆ ภายในกลุ่ม เป็นต้น โดยมุ่งไปสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน (SE: Social Enterprise) ซึ่งถือเป็นรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวพระราชดำริเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ตามภูมิสังคมที่มีอยู่ และลดการพึ่งพาจากภาครัฐฯ”
ทุกหมู่บ้านที่ร่วมโครงการถือเป็นหมู่บ้านนำร่อง จะมีแผนพัฒนาหมู่บ้านที่ผ่านความเห็นชอบจากคนในชุมชนแล้ว ทำให้มีทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจนทางปิดทองหลังพระฯจะร่วมประสานงานและบริหารแผน เพื่อให้มีงบประมาณในส่วนของราชการ อำเภอ อปท. เข้ามาสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่จำเป็น เป็นการผลักดันแนวทางปิดทองหลังพระฯ เข้าสู่กระแสหลักของการพัฒนาในส่วนราชการโดยหมู่บ้านนำร่องของแต่ละจังหวัดคือ “ทำเป็นตัวอย่าง” ให้เกิดผลสำเร็จจริง วัดผลได้ เพื่อให้ชุมชน ตำบล อำเภอข้างเคียง ได้นำรูปแบบ วิธีการทำงานแบบปิดทองหลังพระฯ ไปขยายผลด้วยตนเอง