สถาบันปิดทองหลังพระฯ ขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับ 22 จังหวัด เพื่อสร้างประโยชน์สุขอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศจากความเข้มแข็งของประชาชนฐานราก ท่ามกลางความท้าทายมากมายจากสถานการณ์ของประเทศและของโลกในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ประธานกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบวีดีทัศน์ทางไกล กับผู้ว่าราชการจังหวัด 22 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการของสถาบันฯ เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการประสานงานโครงการพัฒนาของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันในการทำงานในพื้นที่ ระหว่างสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กับทั้ง 22 จังหวัด ในเรื่องของงาน งบประมาณ ระบบการทำงาน กลไกการขับเคลื่อนงานและคนทำงาน

ท่านผู้หญิงบุตรี กล่าวว่า มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสถาบันปิดทองหลังพระฯ กับจังหวัดต่าง ๆ ได้ทำงานใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่จังหวัดดำเนินการอยู่แล้ว สถาบันฯ จะเข้าไปประสานกับทุกภาคส่วนเพื่อหนุนเสริมให้งานที่ทำเกิดประโยชน์สูงสุด และประชาชนมีความมั่นใจว่าประเทศชาติจะก้าวหน้าไปได้ด้วยดีบนหลักความพอเพียงภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย


นายกฤษฎา กล่าวว่า สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสืบสาน ต่อยอด และขยายผล โดยเฉพาะยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ระเบิดจากข้างใน การมีส่วนร่วม รู้รักสามัคคี ช่วยให้เขาพึ่งพาตนเองได้ และศาสตร์พระราชาจากแนวพระราชดำริและศูนย์ศึกษาการพัฒนา มาเป็นหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน


ทั้งนี้ ภายใต้บริบทของประเทศและโลก สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้เตรียมการทำงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคภัยใหม่ ๆ การเป็นสังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ที่ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งวิกฤติพลังงานและอาหาร ดังนั้น สถาบันปิดทองหลังพระฯ จึงต้องแสวงหาองค์ความรู้และรูปแบบการทำงานในแต่ละพื้นที่ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพด้านการเกษตร โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การลดต้นทุนการผลิต การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การแสวงหาภาคีเครือข่ายวิชาการ และทำงานร่วมกับภาคเอกชนและราชการ ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

“สถาบันปิดทองหลังพระฯ ยึดหลักการ 5 ประสาน 4 ประโยชน์ คือ การประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน และสถาบันปิดทองหลังพระฯ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีน้ำ มีอาชีพ มีความรู้ และมีรายได้ มุ่งหวังให้องค์ความรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ มีการเผยแผ่ เกิดกระบวนการบูรณาการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ จากการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนฐานรากโดยมีลักษณะงานที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาส่งเสริมอาชีพและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ประธานสถาบันฯ กล่าวว่า ภารกิจของสถาบันฯ จำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับจังหวัด และภาคีเครือข่ายโดยใกล้ชิด ดังนั้น ในการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้การทำงานเกิดความเป็นเอกภาพ มีการทำงานอย่างเป็นระบบ ยั่งยืน และต่อเนื่อง ที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 จึงเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานโครงการของสถาบันฯ ใน 22 จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ 4 ประการ คือ


1) กำหนดแนวทางปฏิบัติและอำนวยการให้การดำเนินโครงการในจังหวัด เป็นไปตามกรอบแนวคิด วัตถุประสงค์และเป้าหมาย


2) ส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพื้นที่พัฒนาของสถาบันฯ


3) ประสาน บูรณาการขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดกิจกรรมโครงการ แผนงานของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพื้นที่และแนวทางการดำเนินโครงการฯ และ


4) ส่งเสริมและประสานความร่วมมือการทำงาน และการพัฒนาระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน ให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างสอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชน และเมื่อพื้นที่ใดได้รับการพัฒนาจนบรรลุเป้าหมายแล้ว จะมีการส่งมอบพื้นที่นั้นให้กับส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปดูแล บำรุง รักษาร่วมกับประชาชนต่อไป

คณะอนุกรรมการประสานงานโครงการพัฒนาของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ทั้ง 22 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น น่าน นราธิวาส เพชรบุรี ปัตตานี ยะลา อุทัยธานี อุดรธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และแม่ฮ่องสอน


นายกฤษฎาฯ เสนอให้แต่ละจังหวัดอาจนำร่องดำเนินงานโครงการตามรูปแบบที่สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้ดำเนินการในเรื่องแหล่งน้ำไว้แล้ว สามารถเริ่มจากจุดเล็ก ๆ แล้วจึงขยายไปสู่จุดใหญ่ ๆ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม


“หวังว่าคณะอนุกรรมการประสานงานโครงการพัฒนาของสถาบันฯ ประจำจังหวัด จะสามารถดำเนินการได้อย่างดี ซึ่งผลที่ได้จะทำให้การพัฒนาพื้นที่ด้วยการสืบสานแนวพระราชดำริ ประสบความสำเร็จส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความก้าวหน้า เข็มแข็ง อย่างยั่งยืนต่อไป” นายกฤษฎากล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ