“สถาบันปิดทองหลังพระฯ จับมือ “ราชการ-เอกชน” กำหนดกติการ่วมทุน ลดความเสี่ยงให้เกษตรกรและรักษาสิ่งแวดล้อม

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ นำร่องพื้นที่ 3 จังหวัด “ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์แทนการทำนาปรัง” ช่วยลดการใช้น้ำมากกว่า 2 เท่า เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยมีเกษตรกรกว่า 2,296 ราย สนใจเข้าร่วมโครงการฯ คาดเกษตรกรที่เข้าร่วมจะได้ผลผลิตดี มีกำไรขั้นต่ำไร่ละ 3,500 - 4,000 บาท ซึ่งสูงกว่าการทำนาที่สร้างรายได้ไร่ละ 800-1,000 บาท     

เมื่อวันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน 2565 นายกฤษฎา บุญราช ประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้ลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุดรธานี เพื่อให้แนวทางการสนับสนุนโครงการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังทำนาปี โดยนายกฤษฎา ระบุว่า ในปัจจุบันตลาดกำลังขาดแคลนข้าวโพดอาหารสัตว์ อันเนื่องมาจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของโลก  ในการผลิตข้าวโพดและข้าวสาลี ภาวะสงครามทำให้ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาข้าวโพดอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นระยะๆ ในขณะที่ประเทศไทยต้องนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์มาจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยสามารถสร้างผลผลิตได้เพียง 4 ล้านตัน ต่อปี ในขณะที่มีความต้องการไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตันต่อปี ดังนั้นในปี 2565 สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จึงได้เริ่มทำโครงการ “ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังการทำนาปี” เพื่อเป็นหนึ่งทางเลือกในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรหลังฤดูการทำนา อีกทั้งการปลูกข้าวโพดใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาถึง 2 เท่า ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกษตรกรประหยัดการใช้น้ำในฤดูแล้งได้

นายกฤษฎา บุญราช ประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการฯ สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้กำหนดแผนงาน และวิธีการทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น และอุดรธานี และประสานงานกับส่วนราชการทั้งในส่วนกลาง และระดับจังหวัด อำเภอ คือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ พร้อมทั้งได้ประสานเชิญกลุ่มบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจอาหารสัตว์เข้าร่วมโครงการด้วย โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด เข้าร่วมโครงการเป็นรายแรก ทั้งนี้ สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการต้องลงทุนออกค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรโดยไม่คิดดอกเบี้ย ตั้งแต่ขั้นตอนการสนับสนุน   เมล็ดพันธ์ุข้าวโพด ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช 

“ก่อนลงมือปลูกและระหว่างปลูกข้าวโพดนั้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด จะส่งพนักงานมาร่วมกับเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และเจ้าหน้าที่สถาบันปิดทองหลังพระฯ ในการตรวจสอบคุณภาพดินและปริมาณน้ำ รวมทั้งแนะนำวิธีการปลูกและบำรุงแปลงข้าวโพด ตลอดจนวิธีการเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่ถูกวิธี ทั้งนี้บริษัทได้ให้คำมั่นว่าจะรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในราคารับรองขั้นต่ำกิโลกรัมละ 8.50 บาท ต่อความชื้นไม่เกิน 27 เปอร์เซ็นต์ หรือในช่วงผลิตออกสู่ตลาด หากราคาในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นกว่าราคารับรอง บริษัทก็จะรับซื้อในราคาที่สูงขึ้นตามราคาในท้องตลาด ในทางตรงข้ามหากช่วงเวลาผลผลิตออกสู่ตลาด ราคาข้าวโพดลดต่ำกว่า 8.50 บาท บริษัทจะรับซื้อในราคารับรองที่ตกลงกันไว้ในราคาขั้นต่ำกิโลกรัมละ 8.50 บาท และหากเกษตรกรสามารถร่วมกันปลูกข้าวโพดตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป บริษัทจะมาตั้งจุดรับซื้อข้าวโพดโดยตรงจากเกษตรกรในพื้นที่ โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งผลผลิตไปขายต่างจังหวัด และถูกกดราคารับซื้ออย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งระหว่างปลูกข้าวโพดแล้ว หากเกิดภัยธรรมชาติ โรคระบาดหรือน้ำท่วม ทำให้ข้าวโพดเสียหายทั้งหมด หรือเมื่อเกษตรกรปฏิบัติตามขั้นตอนแล้ว ขายผลผลิตไม่พอกับต้นทุนค่าปัจจัยการผลิต สถาบันปิดทองหลังพระฯ จะร่วมกับส่วนราชการ และบริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ ตรวจสอบพิสูจน์ความเสียหายนั้น หากเป็นจริง บริษัทก็จะไม่เรียกหนี้เงินทุนจากเกษตรกร” นายกฤษฎา กล่าว

นอกจากนี้เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งที่สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้กำหนดไว้คือเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการต้องนำเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน หรือหนังสือรับรองจากส่วนราชการว่า        ที่ดินที่นำมาร่วมโครงการไม่ใช่ที่ดินป่าสงวนหรือที่ดินสาธารณะมาร่วมโครงการอย่างเด็ดขาด         รวมทั้งเมื่อเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้ว ห้ามใช้วิธีการเผาทำลายตอซังข้าวโพดหรือเศษหญ้าวัชพืช เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม

นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมกับกลุ่มเกษตรกร   ที่เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงว่า ขอให้เกษตรกรได้ปรึกษา หารือ ช่วยกันคิดเปรียบเทียบระหว่างการทำนาปรัง หรือการปลูกพืชอื่นๆ กับการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ว่ามีความแตกต่างอย่างไร ทั้งวิธีการปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว และพืชชนิดไหนจะทำกำไรให้แก่เกษตรกร และสร้างรายได้ ได้เพียงพอ คุ้มค่า ก่อนตัดสินใจร่วมโครงการ ขณะเดียวกันหากเกษตรกรเห็นว่ามีบริษัทเอกชนรายใดที่เสนอเงื่อนไขและข้อตกลงที่ดีกว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด ก็สามารถเชิญชวนมาเข้าร่วม          โครงการฯ ได้ โดยสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะช่วยเกษตรกรตรวจสอบข้อตกลงต่างๆ เพื่อไม่ให้เกษตรกรเสียเปรียบ

 “ขณะนี้มีเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น และอุดรธานี ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการกว่า 2,296 ราย โดยอยู่ระหว่างการตรวจประเมินแปลงที่มีความพร้อม เพื่อไม่ให้เกษตรกรมีความเสี่ยง ทั้งในเรื่องความเหมาะสมของดิน ปริมาณน้ำที่เพียงพอ และแรงงานที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ครอบครัว โดยจะเริ่มลงมือปลูกข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งข้าวโพดอาหารสัตว์จะมีอายุการปลูกประมาณ 4 เดือนหรือ 120 วัน จึงสามารถเก็บเกี่ยวข้าวโพดได้ในเดือนเมษายน 2566 หากเกษตรกรสามารถ ดำเนินการได้ตามโครงการ และเงื่อนไขโดยไม่ประสบภัยธรรมชาติแล้ว คาดว่าเกษตรกรจะมีกำไร (รายได้ - ต้นทุน) อย่างต่ำประมาณไร่ละ 3,500 -4,000 บาท ซึ่งสูงกว่าการทำนาที่ได้รายได้เพียงไร่ละ 800-1,000 บาท” นายกฤษฎา กล่าว 

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังการทำนา เป็นการสืบสาน ต่อยอด และขยายผลตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้ประโยชน์จากการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้อย่างยั่งยืน ในเรื่องการคำนึงถึงสภาพภูมิสังคม และหลักการมีส่วนร่วมหรือการระเบิดจากข้างใน มาใช้ในการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังการทำนา เพราะสังคมไทยยังเป็นสังคมเกษตรกรรม มีพื้นที่ทำการเกษตรมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งประเทศ

หากการดำเนินงานตามโครงการนี้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว สถาบันปิดทองหลังพระฯ        จะพิจารณาขยายผลโครงการไปดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในฤดูฝนหรือเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รวมทั้งจะให้ฝ่ายวิเคราะห์การตลาดของสถาบันฯ รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลพืชเศรษฐกิจ ชนิดอื่นๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว กล้วย พืชผัก กาแฟ มะพร้าว ว่าตลาดมีความต้องการมากน้อยเพียงใด เพื่อนำรูปแบบการบริหารโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์มาเป็นต้นแบบ   ในการดำเนินงาน โดยจะคงรูปแบบการกำหนดราคารับซื้อล่วงหน้าที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกร

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ